Health & Fitness

พ่อแม่สายว้าก…หมดเวลาตะโกนใส่ลูก ถ้าไม่อยากให้สมองและหัวใจของเขาพัง!



ยากนะที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะยั้งอารมณ์เวลาที่ลูกตัวน้อยดื้อสุดขีด ต่อต้านสุดพลัง ทำอะไรไม่เข้าตา ก็แทบจะข่มตัวเองไว้ไม่ไหว เอาเป็นว่าเราจะไม่หาคำตอบว่าผู้ใหญ่โตๆ แล้วโมโหทำไม แต่เราจะบอกว่าตะคอกใส่เด็กแล้วจะเกิดผลอะไรกับลูกบ้างที่ทางวิทยาศาตร์บอกมา เราได้ไปอ่านเรื่องนี้มาจาก fatherly.com แล้วแม่อย่างเราถึงขั้นสะพรึง ต้องไปสะกิดคุณพ่อมารับรู้ด้วย ก่อนจะตะเบงเสียงดังใส่ลูก ทำให้เราฉุกใจคิดถึงเรื่องนี้ทุกครั้ง เลยต้องบอกต่อหน่อย

 

ตามที่ ดร. ลอร่า มาร์คแฮม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Aha! Prenting และคนเขียน Peaceful Parent, Happy Kids: How to Stop Yelling and Start Connecting บอกว่าการตะโกนเป็นโจทย์ยากของพ่อแม่เลยก็ว่าได้ ใครๆ ก็รู้ว่าการเลี้ยงลูกแบบนี้มันไม่ดี แต่คิดถึงใจแม่ที่ทำงานอย่างบ้าคลั่งมาตลอดวัน ตอนกลางคืนแรงแทบหมด ปาเข้าไปเกือบ 5 ทุ่มแล้ว ลูกยังวิ่งเล่นกระโดดบนเตียงไม่ยอมหลับยอมนอน แม่อย่างเราง่วงแทบจะสลบ เจอลูกเอามือมาแหย่จมูก เลิกหนังตา เปิดปากเราประหนึ่งว่าอยากจะตรวจฟันให้แม่อย่างละเอียด ทำทุกอย่างยกเว้นเข้านอน เราหันไปตะคอกหนึ่งดอก ถึงจะทำให้แม่นางน้อยเข้านอนได้

 

ดร. ลอร่าบอกว่าถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ตวาดลูกอย่างต่อเนื่อง ทำผิดเล็กน้อย ทำสกปรกนิดหน่อยก็เสียงดังให้ลูกกลัว เพราะคิดเอาเองว่านี่ฉันกำลังอบรมสั่งสอนลูกอยู่ ข่าวร้ายก็คือพ่อแม่จะทำจนติดเป็นนิสัยและจะตะคอกลูกหนักขึ้นในช่วงที่ลูกๆ เป็นเด็กโตเรียนประถมปลายไปจนถึงช่วงวัยรุ่น การด่าจะหนักและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความจริงที่ตามมาในสมองและจิตใจของเด็กค่อยๆ เกิดพลังบางอย่างที่พ่อแม่จะต้องเสียใจทีหลังจากสิ่งที่ทำไปด้วย 6 เหตุผลที่ยืนยันด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้เลย

 

1. สู้…หนี…หรือนิ่ง

ดร. ลอร่าบอกว่าพ่อแม่ที่ตะคอกใส่เด็กไม่ได้ทำลายเซลล์สมองใดๆ ของเด็ก แต่ว่าพวกเขากำลังเปลี่ยนสมองของเด็กอยู่ต่างหาก “พูดง่ายๆ ก็คือเวลาที่เด็กอยู่ในอารมณ์สงบนิ่ง สารสื่อประสาทจะส่งสารเคมีบางอย่างออกไปบอกเด็กๆ ให้รู้สึกปลอดภัย นั่นเป็นทางเดินประสาทที่เด็กๆ สร้างขึ้นเพื่อให้ตัวเองอยู่ในมู้ดสบายๆ”

 

เจ้าตัวน้อยที่อายุน้อยๆ จะยังไม่พัฒนาสมองส่วนหน้าไม่เต็มที่ สมองส่วนนี้เรียกว่า Prefrontal Cortex จะเป็นส่วนที่ลงโปรแกรมบุคลิกและพฤติกรรมของลูกเราเลย เด็กๆ จะพัฒนาสมองไปใช้ในการตัดสินใจ คาแรกเตอร์ที่เขาจะเป็นกับสังคม Momscream หาข้อมูลหนักขึ้นเกี่ยวกับสมองคอร์เท็กซ์ส่วนนี้ใน Wikipedia อ่านแล้วตัวชาไปทั้งร่าง เพราะเป็นส่วนที่เด็กเอาไว้ใช้คิดอะไรที่ขัดแย้งกัน ตัดสินว่าอะไรมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ความดีและความดีที่สุด การทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่เขาวางไว้ ไปจนถึงการควบคุมตัวเองในสังคม

 

เฮ้ยยยยย สมองส่วนนี้สำคัญกับเด็กๆ ลูกของเรามากขนาดนี้ แล้วถ้าสมองที่ยังไม่โตเต็มที่โดนพ่อแม่ตะคอกใส่ขึ้นมา การเดินทางของสารเคมีในสมองจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามทันที! ดร.ลอร่าบอกว่าเด็กๆ จะปล่อยสารเคมีที่ให้เขาเลือกว่าจะ สู้ หนี หรือนิ่ง เด็กๆ อาจจะเข้ามาตีคุณ อาจจะวิ่งหนี หรืออาจจะตัวแข็งทื่อยืนช็อคไปเลย ไม่ว่าจะอย่างไหนก็ไม่ดีกับการสร้างของสมองทั้งนั้น และถ้าเกิดเหตุการณ์นี้บ่อยๆ พฤติกรรมที่เด็กๆ ทำก็จะติดตัวไปตลอดชีวิต เพราะสมองถูกฟอร์มมาอย่างนั้นแล้ว

2. การตะคอกไม่ใช่วิธีสื่อสารกับเด็กๆ

ลองดูสิว่าเวลาที่เราทำงานอยู่ในห้องประชุม คนที่ชอบทำกร่าง จะเป็นคนที่เราแอบเบะปากคว่ำใส่อยู่บ่อยๆ พูดอะไรมาก็ไม่อยากจะนับถือ ไม่มีใครชอบโดนตะโกนใส่หน้าหรอก ลูกเราก็เหมือนกัน ดร.ลอร่าอธิบายว่า “เวลาพ่อแม่ตะโกนใส่ลูก เด็กก็อาจจะไม่ทำในสิ่งที่พ่อแม่ด่า แต่เด็กๆ ไม่ได้เปิดใจยอมรับในสิ่งที่เขาทำว่าผิดจากสิ่งที่พ่อแม่ไปข่มเขา เขายิ่งปิดตัวเองหนักเข้าไปอีกค่ะ” ภาษาที่เราเรียกก็คือดื้อตาใส เขาอาจจะทำท่าหงิมๆ แต่ข้างในชัตดาวน์ไม่ฟังไม่สำนึกแม้แต่น้อย

 

3. ผู้ใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัว

ในภาพของเด็กเล็กๆ จะมองว่าพ่อแม่คือมนุษย์ที่ตัวใหญ่กว่าเขาเป็นสองเท่า เป็นคนที่หาอาหาร ให้ที่พัก ให้ความรัก เป็นคนที่เขาวางใจและรู้สึกอบอุ่นที่สุด แต่ถ้ามนุษย์คนนั้นข่มขู่ทางใจของเขาเรื่อยๆ เข้าไปสั่นสะเทือนความมั่นคงในจิตใจ ไม่รู้วันดีคืนดีจะพูดเสียงตะโกนด่าเขาขึ้นมาเมื่อไหร่ เด็กๆ จะรู้สึกกลัวจับหัวใจ ดร. ลอร่าเล่าว่ามีงานศึกษาโดยการถ่ายวีดีโอคนตอนกำลังตะโกน พอเอาวีดีโอมาเพลย์ให้คนนั้นดูหน้าตัวเองอีกที ทุกคนแทบไม่เชื่อว่าหน้าของเขาออกมาโหดขนาดนั้น และเด็กๆ 3 ขวบเจอการแสดงสีหน้าและอารมณ์รุนแรงบ่อยๆ พวกเขาก็สามารถกดปุ่มตัวเองระเบิดขึ้นมาเหมือนที่โดน โดยที่ไม่รู้ว่าจะควบคุมตัวเองยังไง

 

4. เทรนเด็กให้เป็นคนแบบไหน ลองส่องกระจกดู

เมื่อไหร่ที่เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ตะคอกจนกลายเป็นเรื่องปกติในบ้าน เด็กๆ ก็จะซึมซับแล้วเอาไปใช้บ้าง ดร. ลอร่าเตือนมาหนักๆ ว่าถ้าเด็กเริ่มมีสีหน้าเรียบเฉยตอนที่พ่อแม่ด่า ให้รู้ไว้เลยว่ามันคือการตำหนิเขาที่มากเกินไปจะรับไหว คือหน้าที่ของการควบคุมอารมณ์ตัวเองเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องเป็นแบบอย่าง อยากเป็นพ่อแม่แบบไหน ถามใจเราดู…

 

5. ไม่ใช่แค่ ก็ช่างมันเถอะ!

เราอาจจะเป็นพ่อแม่ที่มีสแตนดาร์ดในการสั่งสอนลูกไม่เหมือนกัน แต่อย่างหนึ่งที่ไม่ควรใส่เข้าไปคือการทำให้เด็กหวาดกลัวเพื่อหยุดในสิ่งที่เขาทำผิด เพราะนั่นจะทำลายความเชื่อมั่นของลูกกับเราได้แบบเขาจะไม่มีวันลืม

 

อีกทางเลือกที่ได้ผลในการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกก็คือ ความตลกและอารมณ์ขัน “ถ้าพ่อแม่ตอบสนองเขาด้วยมุขขำๆ คุณจะยังเป็นผู้ปกครองของเขาอยู่และยังคอนเน็คกับตัวลูกๆ ได้ด้วย” อันนี้เรียกว่าเป็นงานยากของพ่อแม่ที่ต้องไปครีเอทว่าเราจะแก้ลูกด้วยเสียงหัวเราะได้ยังไง

6. สถานการณ์ไหน โอเคที่จะแผดเสียงได้?

ถึงการตะโกนจะไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่บางครั้งก็ต้องใช้ไม้นี้กันบ้างสำหรับเรื่องที่ซีเรียสต่อชีวิตและความรุนแรงกับคนอื่น ดร. ลอร่าบอกว่า “ถ้าลูกของคุณต่อยหรือตีคนอื่น เช่น พี่หรือน้อง หรือเป็นเรื่องที่อันตรายกับเขามากๆ บางทีต้องทำให้พวกเขาเกิดอาการช็อคกันบ้าง แต่เมื่อไหร่เราดึงความสนใจเด็กด้วยเสียงดังแล้ว จากนั้นก็สอนเขาด้วยน้ำเสียงที่ผ่อนลง เสียงดังเพื่อเตือน แต่คุยให้ใช้การพูด ไม่ใช่เสียงดังตลอดเวลา

 

สุดท้ายต้องเข้าใจก่อนว่าการบังคับตัวเองให้มีสติก่อนทุกครั้งที่จะดุลูก ต้องอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนที่จะเป็นพ่อแม่ อย่าให้การตะคอกกลายเป็นภาพที่ลูกๆ นึกถึงเราทุกครั้ง ถ้ารู้ตัวแล้วให้รีบเปลี่ยนตัวเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด่วนๆ เลย อาจจะยาก แต่ผลลัพธ์คุ้ม เขาจะโตเป็นคนที่จิตใจมั่นคง ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ส่งต่อไปถึงหลานของเรา เหลนของเราต่อๆ ไป สร้างสังคมให้มีความรุนแรงน้อยลงด้วย

 

 

27 July, 2017
Health & Fitness