Health & Fitness

นักจิตวิทยาเด็กตัวท็อปฟันธง! ลูกต้องการแก่นการใช้ชีวิตจากพ่อแม่ที่สุด



อยากให้ลูกโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีความมั่นคงในหัวใจ พ่อแม่อย่างเรานี่ต้องสุมหัววางแผนกันสุดฤทธิ์ เพราะเราได้คำตอบมาแล้วว่าเด็กๆ ต้องการความรักและการวางกรอบจากพ่อแม่ในการใช้ชีวิตพร้อมกัน แต่ถ้าให้เลือกอย่างเดียวล่ะ เราจะต้องให้ความสำคัญไปทางไหนดี?

 

นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านเด็กวัยรุ่นอย่าง ลิซ่า เดมัวร์ เธอเป็นนักเขียนหนังสือเรื่อง Untangled: Guiding Teenage Girls Through the Seven Transitions Into Adulthood บอกว่าถ้าเลือกอย่างเดียว สิ่งนั้นก็คือการปักหมุดนิสัยรวมทั้งระเบียบวินัยมาเป็นอันดับหนึ่ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่าสอน structure ให้กับลูกในการอธิบายทุกสิ่งอย่าง ทำให้เราเห็นภาพว่านี่คือวางโครงสร้างการมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับลูก พ่อแม่ต้องเป็นคนลงเสาเอกให้ลูกเท่านั้น

 

ลิซ่าบอกว่า “เด็กๆ ได้รับความอบอุ่นจากปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา หรือคุณครู แต่มีแค่พ่อแม่เท่านั้นที่จะสอนขอบเขตการใช้ชีวิตให้เด็กๆ ได้” การออกมาสรุปแบบนี้ทำให้เกิดคำถามในใจกับแม่อย่างเราหนักมาก เพราะที่เราเคยได้ยินมาจากเทรนด์ดูแลลูกยุคใหม่ที่ต้องให้ความรักความอบอุ่นมากๆ แต่สำหรับลิซ่าได้ย้ำมาว่าแนวความคิดนี้พิสูจน์มาแล้วและได้ตีพิมพ์ลงใน New York Times  มาแล้ว เธอบอกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวด โตขึ้นมาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยมีความสุข แต่เด็กจะมีหลักในการใช้ชีวิตที่เหมือนเป็นเครื่องมือของเขา ให้เอาไปใช้ในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี ส่วนเด็กที่โตมาแบบไร้กฎเกณฑ์ก็จะโตมาแบบไร้หลักการไปเลย แต่เขาก็รู้ว่าพ่อแม่รักเขามากนะ แค่ภูมิคุ้มกันในการเตรียมใจกับปัญหาในอนาคตแทบจะไม่เคยได้รับการสอนมา อันนี้ถือว่าเป็นดาบสองคม

 

ไม่ว่าเราจะเป็นพ่อแม่แบบไหนก็ตาม ถ้าเราเลี้ยงดูเด็กๆ ให้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้มงวดจนขาดความรัก หรือรักมากจนไม่มีวินัย

ผลที่แย่ที่สุดคือเด็กๆ เสี่ยงกับการโตมาแบบไม่รู้จักหน้าที่ “ที่ดี” ของตัวเอง เขาอาจไปทำผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมไปเลย ถ้าลูกเป็นแบบนี้ แม่อย่างเราคงหัวใจสลายแน่ๆ

ลิซ่าย้ำว่าคงจะดีกว่าแน่ถ้าเราให้เด็กๆ ได้ทั้งความรักและสร้างสำนึกการใช้ชีวิตได้ด้วยคงเป็นอุดมคติของคนเป็นพ่อแม่อย่างเรามาก “เด็กๆ ควรได้รับความรักอย่างเต็มที่และพวกเขาก็ควรต้องรู้กฎต่างๆ ด้วย…นั่นคืองานของพ่อแม่อย่างคุณค่ะ”

ถึงลูกจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่ต่อต้านพ่อแม่สุดๆ ลึกๆ แล้วเขาก็อยากได้การแนะนำเรื่องต่างๆ จากพ่อแม่อยู่ดี ถ้าเราปล่อยตามใจลูกมากเกินไปหรือไม่มีกฎที่ชัดเจนก็อาจทำให้ลูกเป็นคนนอยด์ๆ และกังวลกับเรื่องต่างๆ ได้ง่าย น่าเห็นใจที่เด็กโตไปเจอกับฮอร์โมนที่พุ่งพล่าน คึกคะนองบ้าคลั่งแล้วพ่อแม่ยังไม่ช่วยดึงให้สงบ ลิซ่าเล่าว่า “แค่เป็นวัยรุ่นก็รู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว แถมเพื่อนที่อยู่รอบข้างในวัยเดียวกันก็คอนโทรลตัวเองไม่ได้อีก เด็กๆ คงไม่อยากได้พ่อแม่ที่คุมอะไรไม่ได้มาด้วยอีกหรอก”

 

อย่างตัวลิซ่าเองก็เป็นคุณแม่ที่มีลูกสาว เธอให้คำแนะนำการเลี้ยงลูกที่เริ่มเข้าวัยรุ่นว่า…

ตั้งกรอบเอาไว้ว่าทุกอย่างต้องอยู่บนความปลอดภัย เด็กๆ จะเลือกวิธีใช้ชีวิตยังไงก็ได้ แต่ขอให้ดูแลรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต้องทำให้ลูกเชื่อฟังและรู้ได้ด้วยสำนึกของตัวเองว่าอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมและความดี ไม่ใช่บอกเพราะ “ฉันคือแม่ของเธอนะ ฉันเป็นผู้ใหญ่ เธอต้องฟัง” ถ้าอย่างหลังเราจะโดนลูกย้อนศรใส่ได้เยอะมาก เมื่อเขาโตขึ้น

 

อย่ามองข้ามพลังของการขอโทษ พ่อแม่ต้องกล้าขอโทษลูก ไม่ใช่ตีเนียน คิดว่าช่างมันเถอะ เราเป็นผู้ใหญ่ เดี๋ยวเสียฟอร์ม แต่การขอโทษลูกแปลได้ว่าพ่อแม่อย่างเราเคารพในตัวลูก และช่วยสร้างความเชื่อใจให้ลูกมีกับเราได้

 

ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ต้องเจอตอนโต ถ้าเราสอนตรงนี้ลูกแล้ว เด็กๆ จะโตขึ้นมาแบบมีสติ เวลาที่เจอปัญหา เอาตัวเองออกมาได้เร็ว

 

ให้ลูกๆ รู้จักเทคโนโลยีให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราห้ามลูกอยู่ในโซเชียลมีเดียไม่ได้หรอก แต่ไม่จำเป็นที่ต้องให้ลูกเล่นตั้งแต่ 5 ขวบ ยังไงก็ได้เล่นแน่นอน และอย่าให้ลูกเล่นในห้องนอนของเขาคนเดียว พวกเกมส์ โซเชียลอย่างเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ต่างๆ จะดึงความสนใจเด็กไปหมด เล่นแบบไม่หลับไม่นอน อันตรายต่อสุขภาพเด็กวัยกำลังโตมาก ลิซ่าแนะนำว่า “พ่อแม่อาจจะพ่ายแพ้กับการต่อสู้กับเทคโนโลยี สุดท้ายเด็กๆ ก็ต้องใช้อยู่ดี แต่การใช้ตอนลูกอายุ 17 กับตอนอายุ 13 ความคิดอ่านก็ต่างกันอยู่ดี”

 

สุดท้ายแล้วพ่อแม่อย่างเราก็คือคนเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับเขา และมันก็มีเป็นล้านๆ วิธีในการเลี้ยงลูกของแต่ละครอบครัว ทางไหนจะเข้าถึงกลางใจลูกมากที่สุด แม่อย่างเราเท่านั้นที่จะเข้าใจลูกๆ ของคุณเองค่ะ

 

 

2 August, 2017
Health & Fitness