Family

ความเพอร์เฟ็คที่แม่ทุ่มให้ อาจกลายเป็นความว่างเปล่าในหัวใจของลูก




เอาล่ะ เห็นหัวเรื่องแบบนี้ แม่ๆ อาจมีอันต้องผงะกันนิด ยอมรับว่าบางทีก็แอบเป๊ะกับลูก แบบไม่รู้ตัวเหมือนกัน ได้คุยเรื่องนี้กับน้องมะเฟือง นักเขียนเราที่กำลังศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวอยู่ที่อเมริกา มะเฟืองเลยขอเขียนเล่าผ่านมุมมองของเธอ ที่เธอเคยเป็นเด็กมาก่อน เจอกับเพื่อนๆ ที่ทั้งในไทยและอเมริกา มะเฟืองเล่าและใส่มุมมองไว้น่าสนใจมากๆ เราขอเล่าให้ฟังผ่านมุมมองจากประสบการณ์ที่เจอมาหมดทั้งวัฒนธรรมฝั่งตะวันออกและตะวันตก บวกกับความรู้ที่เรียนจิตวิทยาครอบครัวที่อเมริกานี้มาแล้วกันนะ

หลายครอบครัว middle-upper class ในประเทศไทย ยิ่งในกรุงเทพฯด้วยแล้ว จากรุ่นสู่รุ่นที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยมุมมองที่ว่า


‘เราต้องทำทุกอย่าง ให้ลูกดูดีในสังคมที่สุด ให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วลูกเราก็จะมีความสุขที่สุด เพราะนั่นคือความสมบูรณ์แบบ จากความรักที่เรามอบให้’

.

.


แม่ๆ ด้วยความที่ผ่านอะไรมาเยอะแล้ว เชื่อมั่นว่าเส้นทางที่ตัวเองเจอมาหรืออุดมการณ์ที่ตัวเองยึดถือ คือสิ่งที่ดีเลิศและเหมาะสมสำหรับลูก ก็เลยพยายามจะเลี้ยงลูกให้ไปตามสิ่งที่ตัวเองฝันไว้ ยิ่งลูกๆ ในยุคนี้แล้ว เรียนพิเศษเข้าไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกจะได้สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าลูกจะได้อยู่ในสังคมที่ดี และมีอนาคตที่สดใส
ซึ่งนี่คือสิ่งที่คุณทวดเลี้ยงดูคุณยาย คุณยายเลี้ยงดูคุณแม่ คุณแม่ส่งต่อค่านิยมนี้เลี้ยงดูเราอีกที… เอาจริงๆ นะ ถ้าเราไม่มาเรียนที่นี่ เราก็คงยึดค่านิยมนี้เลี้ยงลูกเราด้วยเหมือนกัน เพราะเราถูกสอนมาว่า ‘ความรักที่ยิ่งใหญ่ คือการมั่นใจว่าคนที่เรารัก ได้สิ่งที่ดีที่สุด’ แต่มันผิดตรงที่ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ที่ว่านี้ มันยึดจากตัวของเรา แทนที่จะเป็น ‘ตัวลูก’ นั่นเอง
……. แล้วมันผิดตรงไหนล่ะ?


‘พอฉันเรียนจบมัธยม แม่ก็ไล่ฉันออกจากบ้านเลย ให้ฉันไปมีชีวิตของตัวเอง ให้ฉันโตด้วยตัวเอง นี่คือการแสดงความรักจากแม่ของฉัน’


เป็นคำที่เพื่อนอเมริกันคนหนึ่งพูดกับเรา ตอนแรกช็อคเลย แค่ฟังก็รู้สึกโหวงแล้ว แต่แม่ๆ แทบทุกคนที่นี่เป็นแบบนี้จริงๆ

‘ลูกไม่ใช่สมบัติของเรา การรักเขาให้ดีที่สุด จึงเป็นการเมคชัวร์ว่าเขาจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ดีที่สุด’

ข้อดีของการอยู่ในสังคมที่ผู้คนมีลักษณะนิสัยแบบปัจเจก คือเราจะแกร่งได้ด้วยตัวเองและเราจะมีอิสระทั้งทางความคิดและความเป็นอยู่ ไม่ต้องคำนึงถึงใคร คิดตัดสินใจอะไรให้มันวุ่นวาย แต่แน่ละ ข้อเสียก็คือความเหงา ความเหว่ว้า และไม่มีใครที่เราสนิทชิดเชื้อคอยชี้ทางให้แสงสว่างหรือควบคุมให้อยู่ในกฎระเบียบ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง


เทียบกับสังคมไทย ที่แม่ๆ จะคอยดูแล ปูทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ วางแผน ประคบประหงมลูกให้ถึงที่สุด ซึ่งตอนเราเป็นเด็กเล็ก เราก็รู้สึกดียิ้มร่า เพราะมันทำให้เรารู้สึก ‘ปลอดภัย’ และมั่นใจว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น มาถูกทางแน่ๆ
แต่แท้ที่จริงแล้ว การตัดสินใจวางอนาคตและกิจกรรมทุกอย่าง ทุ่มความเพอร์เฟ็คตามอุดมการณ์ของเรานั้นให้ลูก โดยไม่คอยเช็คอินกับความรู้สึกของลูก เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ หากลูกยอมทำตามแต่โดยดีเพื่ออยากให้พ่อแม่มีความสุข ‘ความสุขและแรงบันดาลใจ’ ทุกอย่างในตัวลูกก็จะถูกเทไว้ที่พ่อแม่ ฟังดูก็น่ารักอบอุ่นดี แต่จริงๆ แล้วหัวใจลูกข้างในนั้น ‘ว่างเปล่า’ เพราะเขาไม่มีเวลาได้ใช้ถามและค้นพบถึงตัวตนที่แท้จริงลึกๆ ของเขา หลายวันผ่านไป ทุกสิ่งที่ทำกลายเป็นมาจากความกดดัน แบกไว้ด้วยความคาดหวังจากคนอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อตัวเองเลยสักนิดเดียว เขาอาจกลายเป็น ‘ลูกที่ดี’ ในสายตาของคุณ แต่เขากลับไม่สามารถเติมเต็มความสุขที่บริสุทธิ์ได้ ด้วยตัวของเขาเอง ‘เพราะรู้สึกผิด’ ที่จะเริ่มทำอะไรเพื่อตัวเองอย่างแท้จริงโดยไม่ยึดติดความรู้สึกของคนอื่น


หลายคนโตมา กลายเป็นมีนิสัย ‘ฝากความรู้สึกไว้ที่คนอื่น’ ตลอดเวลา –เมื่อใดก็ตามที่เธอมีความสุขเมื่อนั้นฉันจึงมีความสุข- ยิ่งเวลามีความสัมพันธ์แบบคนรักกับใคร มักกลายเป็นคน ‘ยอมทุกอย่างเพื่อให้คนนั้นอยู่กับเรา’ ยืนหยัดเพื่อตัวเองไม่ได้ เพราะไม่เคยรู้เลยว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ที่จุดใด


หรือบางคนที่เก็บกดกล้ำกลืนแบกความคาดหวังอันสมบูรณ์แบบของพ่อแม่เอาไว้ แบบไม่สามารถปริปากอธิบายความรักความชอบหรือถกเถียงสิ่งที่เขาสนใจกับพ่อแม่ได้ แน่นอน สักวันก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะระเบิดออกมา เก็บกดจนมีพฤติกรรมขบถ ไม่สนใจไม่เอาใครในโลกนี้แล้ว ขอทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านสิ่งที่เราเคยอยู่ในตมมา


‘มันไม่มีหรอก พ่อแม่ที่เพอร์เฟ็ค –มีก็แต่พ่อแม่ที่ดีพอ ซึ่งนั่นก็พอเพียงแล้ว’


​‘พ่อแม่ที่ดีพอ’ ไม่เคยถวิลหาการเป็นผู้ปกครองที่สมบูรณ์แบบให้ลูก และไม่เคยคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากลูกเช่นกัน –แค่เพียงตอบสนองต่อความต้องการข้างในของลูก ให้ลูกรู้สึกว่า สิ่งที่เขาต้องการและเชื่ออยู่ในใจนั้นมีความหมาย เคารพและพยายามทำความเข้าใจกับตัวตนที่แท้จริงของลูก


หัวใจของแม่ๆ ทุกคนนั้นยิ่งใหญ่เสมอ เราทุกคนต่างพร้อมมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกที่รัก แต่บางครั้งมันอาจมีเส้นบางๆ ที่เราเผลอลืมไปว่า ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ที่ว่านั้น ยึดเอาความพอใจของเรา หรือความสุขที่แท้จริงของลูกเป็นหลักกันแน่


สังเกตลูกให้เยอะๆ ใส่ใจ ถามคำถามเขาให้มากๆ


ใช้วิธีการพูดคุย-หารือ แทนการหยิบยื่นทุกอย่างให้เขาแบบที่เขาไม่ทันได้ลืมหูลืมตาหรือมีปากเสียงตัดสินใจอะไร ลองฟังเขาบ้างว่าเขามีอะไรอยากจะบอกเรา เพราะเชื่อเถอะ ในโลกใบนี้ ตามสัญชาตญานแล้ว คนแรกที่ลูกอยากเข้าไปหาที่สุดก็คือ ‘คุณแม่’ คนสำคัญนั่นเอง
แล้วค่อยๆ มองดูเขาเติบโต ด้วยแพชชั่นแรงกล้าที่จริงแท้ จากความรักแบบไม่มีเงื่อนไขที่เรามอบให้มั้ย

.

LIKE US : Facebook.com/Momscream

© Copyright 2020 www.momscream.com
Tags: , ,
24 September, 2020
Family