Parenting

ไม่สร้างปมให้ลูกด้วยเสียงดัง! แม่ต้องฝึก”ตวาดอย่างมีจรรยาบรรณ”



ใครเคยสติหลุดขึ้นเสียงว่าลูกบ้างยกมือขึ้นนนนน แม่ๆ คงบอกว่าไม่เคยสิแปลก เพราะแม่ที่เลี้ยงลูกเอง คลุกคลีอยู่กับลูกทั้งวัน จะรู้ว่าเจ้าแสบของเราบางทีก็ต้องกำราบกันบ้าง เวลาเป็นนางยักษ์ด่าลูกไปแล้ว ก็รู้สึกนอยด์ขึ้นมาว่าจะกระทบกับใจลูกไปจนโตหรือเปล่า เพราะมีงานวิจัยมากมายบอกเอาไว้ว่าการตะคอกเสียงดังใส่ลูก สามารถทำร้ายจิตใจได้เหมือนทำร้ายร่างกายและจำไปจนแก่เลยก็มี


ดังนั้นหลังจากแม่ๆ ตวาดใส่ลูกไปแล้ว เราก็จะได้ยินคำปลอบใจประมาณว่า “ไม่เป็นไรหรอก เรื่องธรรมดา ไม่มีแม่คนไหนไม่เคยทำผิดหรอก” รู้สึกดีขึ้นมานิดนึง แต่ก็คิดว่าตามหลักการเลี้ยงดูเด็ก แม่ๆ อย่างเราต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างหรือเปล่า


ดีลกับตัวเองให้เข้าใจก่อนนะแม่

อย่างแรกเลยแม่แต่ละคนก็เจอเรื่องแต่ละวันไม่เหมือนกัน ความรู้สึกผิดที่แม่ทับถมไว้มากขึ้นทุกวัน แม่ที่ต้องออกไปทำงาน ให้คนอื่นมาดูลูกแทน แม่ที่ต้องวิ่งไปทำกับข้าวแล้วปล่อยลูกไว้กับไอแพด แม่ที่ต้องประชุมออนไลน์ ปล่อยลูกนั่งระบายสีเหงาๆ คนเดียว บอกเลยว่าแม่ทำดีที่สุดแล้วแต่ความรู้สึกผิดนั้นก็ยังไม่หายไปอยู่ดี แต่ความรู้สึกผิดเมื่อเราขึ้นเสียงแรงๆ ใส่ลูก ต้องยอมรับเลยว่าเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกผิดต่อความเป็นแม่หนักมากขึ้นไปอีกเลเวล เรื่องนี้แม่จะแกล้งทำเป็นลืมๆ ไปไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้นถ้าเจอสถานการณ์นี้ แม่ๆ ต้อง…

ดึงอารมณ์ลงมาให้เร็ว: เวลาที่ใจมันพุ่งปรี๊ดไปด้วยความโกรธ นาทีนั้นเลือดขึ้นหน้าเหตุผล การยั้งคิดไม่มีแล้ว นี่เป็นความท้าทายและการฝึกตัวเองครั้งใหญ่ของคนเป็นแม่ โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองทั้งวัน เพราะแม่จะไม่มีคนแปะมือแล้วเดินหนีออกไปทำใจ หรือมีคนที่ให้ลูกวิ่งไปหาเพื่อปลอบ ถ้าลูกยังเป็นเด็กเล็ก อาจจะพาลูกใส่รถเข็นออกไปเดินเล่นหน้าบ้าน หรือหาอะไรอะไรมาเล่นกับลูกดับความมาคุตรงนั้นให้หายไปเร็วที่สุด ถ้าลูกโตพอพูดรู้เรื่อง คุณแม่อาจจะบอกว่าเดี๋ยวแม่กลับมานะ แม่ไปอีกห้องก่อน แล้วก็ไปยืนหายใจเข้าออกสงบสติลง

ลูกเองก็เหมือนกัน เจอแบบนี้ลูกคงทั้งอึ้ง เสียใจ โกรธที่แม่ด่า อย่าทิ้งให้ลูกค้างคา แม่ต้องเข้าไปช่วยให้ลูกนิ่งลง ลูกแต่ละช่วงวัยก็ปลอบไม่เหมือนกันด้วยนะ ถ้าลูกยังเล็กมาก แม่ควรอุ้ม กอดให้เขาหายตกใจ โตขึ้นมาหน่อย แม่ควรเข้าไปกอดแล้วแล้วอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่าทำไมแม่ถึงโมโห แม่เข้าใจว่าลูกร้องไห้เพราะเสียใจใช่มั้ย แต่ที่แม่ว่าหนูเพราะอะไร นี่เลยเป็นสเต็ปต่อไปว่า…

‘เมตตา อภัยและเข้าใจ’

เฟสนี้แม่ต้องลบความรู้สึกแย่ๆ ออกไปให้หมด พยายามคุยและบอกเหตุผล ตรงนี้ต้องทำอย่างเข้าใจลูก ล้างทุกอย่างที่อยู่ในใจ อย่าปล่อยเนียนมองข้ามไป เพราะปมที่ไม่ถูกแก้จะค่อยๆ สะสมจะเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ลูกที่ดูเหมือนโอเค แต่ถ้าเจออะไรสะกิดนิดเดียว เขาอาจเปลี่ยนนิสัยเป็นคนโมโหร้าย ใช้การตวาดหรือตะคอกใส่คนอื่น เพราะซึมซับมาจากแม่ก็ได้ การพูดคุยให้เข้าใจ แสดงความรักและกล้าขอโทษลูกเลยเป็นเรื่องที่สำคัญแล้วสิ่งนี้ก็สามารถเข้าไปแทนที่ความโกรธในใจลูกหรือความรู้สึกผิดลึกๆ ของแม่ได้ จากนั้นค่อยๆ เรียนรู้การให้อภัยไปด้วยกัน แม่เองก็ต้องบอกตัวเองไว้ตลอดว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องตะคอกด่าว่าลูกบ่อยๆ เพราะมันไม่เฮลธ์ตี้เอาซะเลย

แต่การตวาดก็ไม่ได้แย่เสมอไป?

จากประสบการณ์ที่โตมาในครอบครัวที่คนในบ้านชอบตะโกนเหมือนกัน ทำให้อยากแชร์ว่าบางครั้งที่เราโตมาก็สามารถแยกได้ว่าอันไหนพ่อแม่เสียงดังแล้วมีเหตุผล หรือพ่อแม่ใช้แต่อารมณ์ หงุดหงิดก็มาลงที่ลูก การที่แม่เสียงดังจึงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ที่ตรงประเด็น

กฎของการขึ้นเสียง

นักวิชาการอย่างอลิซาเบธ เจอร์ชอฟฟ์ อาจารย์ด้าน human development and family sciences จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสบอกว่าถ้าเราตะโกนบอกลูกว่า “อย่าเดินบนถนน!” หรือ “รีบใส่รองเท้าเร็วๆลูก!” แบบนี้เป็นการขึ้นเสียงที่โอเคนะ แต่ถ้าคุณขึ้นเสียงด่าลูกว่า “โง่จริงๆ เลย!” หรือ “ชักช้าน่ารำคาญ!” อันนี้เกินการสอนลูกแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าถ้าพ่อแม่ใช้เสียงที่โหดขึ้นมา เพราะเราอยากกระตุ้นให้ลูกระวังขึ้นหรือทำอะไรให้ดีขึ้นเป็นเรื่องที่รับได้ ต้องให้เด็กเข้าใจแบบเคลียร์ๆ เลยว่าเราไม่โอเคกับสิ่งที่ลูกทำชั่วเวลานั้น ไม่ใช่เราหงุดหงิดกับตัวตนที่ลูกเป็น

กฎอีกข้อคือให้ดูว่าเราใช้การขึ้นเสียงแบบนี้กับเด็กวัยไหน ช่วงเบบี๋หรือโตขึ้นมา 1-3 ขวบ เขาไม่เข้าใจเหตุผลหรอก แต่เขาจะซึมซับอารมณ์โมโหร้ายของพ่อแม่เอาไว้ เพราะฉะนั้นการไปตะโกนใส่เด็กเล็กๆ ให้เขาทำอะไรเร็วๆ หรือด่าว่าเขาโง่ ไม่ฉลาด คุณพ่อคุณแม่กำลังเอาความเกรี้ยวกราดไปซึมใส่ฟองน้ำน้อยๆ คนนี้ให้ดูดซับแต่เรื่องเนกาทีฟไปเรื่อยๆ ทุกวัน

อลิซาเบธยังบอกอีกว่าเสียงดังใส่ลูกแล้วช่วยหันกลับไปมองลูกด้วยว่าเขามีรีแอคชั่นยังไง อย่างลูกสาวของเธอถ้าพูดสอนอะไรบางอย่างจะเห็นว่าเลยลูกรีบแก้ไข แต่กับลูกชายต้องพูดซ้ำๆ และบางครั้งต้องขึ้นเสียงถึงยอมทำ เด็กสองคนในครอบครัวเดียวกันก็อาจจะแตกต่างกันได้ ดังนั้นให้ปรับการเลี้ยงไปตามแต่ละคน รวมทั้งอย่าเป็นพ่อแม่ที่ตวาด ตะคอกลูกบ่อยๆ นานๆ ทำทีก็พอรับได้บ้าง

สุดท้ายคือพ่อแม่โตกว่า มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็ก ต้องคุมอารมณ์ที่ตัวเราเองให้ดี ถ้าเกิดพลาดใส่อารมณ์กับลูกไป ต้องกล้าที่จะขอโทษและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ถึงเราจะไม่ใช่แม่ที่เพอร์เฟ็กต์ แต่ก็เป็นแม่ที่พัฒนาตัวเองในทุกวัน ลูกก็ได้มองแม่ว่าแม่ที่น่ารักของเขาก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน ดังนั้นหนูดื้อให้เพลาๆ ลงบ้างก็ได้นะลูก รักลูกเสมอจ๊ะ…

Tags:
19 April, 2021
Parenting